"สุนทรีย์" บล็อกอ่านเล่นว่าด้วยความงามในงานศิลปะ วรรณกรรม การ์ตูน ฯลฯ รอบๆตัวเรา

Tuesday, October 18, 2011

คมคำ: เลโอนาร์โด ดา วินชี



"..ณ แห่งใดจิตวิญญาณไม่ทำงานร่วมกับมือ นั่นแหละไซร้ไร้ซึ่งศิลปะ.."
/เลโอนาร์โด ดา วินชี, Leonardo da Vinci (ค.ศ.1452-1519)
(ภาพเหมือนตัวเองของเลโอนาร์โด เทคนิคชอล์คสีแดง เขียนราวระหว่างปี 1512-1515)

คมคำ: แจ็คสัน พอลลอค



"จิตรกรที่ดีทุกคน ล้วนวาดในสิ่งที่เขาเป็น"
/แจ็คสัน พอลลอค, Jackson Pollock (1912-1956) จิตรกรชาวอเมริกันคนสำคัญแห่งแนวทางศิลปะสำแดงอารมณ์นามธรรม (Abstract expressionism)

คมคำ: มาร์ก ชากาล



"..ในชีวิตของเรานั้นมีสีอยู่สีเดียว เหมือนกันกับที่มีอยู่บนจานสีของจิตรกร ซึ่งสีนี้เองทำให้ชีวิตและศิลปะดำเนินไปได้ นั่นก็คือ สีแห่งความรัก."
/มาร์ก ชากาล, Marc Chagall (ค.ศ.1887-1985) ศิลปินชาวยิว-รัสเซีย ซึ่งต่อมาได้พำนักอยู่ในฝรั่งเศส

คมคำ: อ็องรี มาติส



"..ศิลปินไม่ควรตกเป็นนักโทษ นักโทษของอะไร? ศิลปินไม่ควรตกเป็นนักโทษของตัวเอง นักโทษของสไตล์ นักโทษของชื่อเสียง นักโทษของความสำเร็จ เป็นต้น.."
/อ็องรี มาติส (Henri Matisse) ค.ศ.1869 – 1954, ศิลปิน จิตรกร ประติมากรชาวฝรั่งเศส
(ภาพมาร์ติสกับนกพิราบในสตูดิโอ เมืองวังซ์ ประเทศฝรั่งเศส ถ่ายในปี 1944 : ภาพโดย อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง)

Friday, September 30, 2011

เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป


นี่คือเว็บขุมทรัพย์แห่งความรู้ รวมประวัติและผลงานของ ปูชนียบุคคลสองท่าน เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป (พระยาอนุมานราชธน และ พระสารประเสริฐ) สองปราชญ์ผู้รักในการศึกษาหาความรู้ และรักที่จะถ่ายทอดความรู้สู่คนอื่นๆ มีผลงานการเขียนและแปล น่าจะร่วมร้อยเล่ม ครอบคลุมทั้งด้าน ประวัติศาสตร์ ประเพณี วรรณคดี ศิลปะ เชื่อมวัฒนธรรมเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็นค่า โดยเฉพาะเสฐียรโกเศศ จะมีกี่คนในรุ่นนี้ที่ระลึกได้บ้างหนอ ว่าในสมัยที่ท่านเป็นอธิบดีกรมศิลป์ฯ ท่านคือผู้ที่ร่วมกับอ.ศิลป์ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง....สมัยก่อนผมต้องไปหาซื้อหนังสือของท่านตามวังบูรพา หลังๆแม้พิมพ์ใหม่ก็พิมพ์ไม่ครบทุกเล่ม แต่ตอนนี้มีให้โหลดอ่านฟรีด้วยในเว็บนี้ โดยแสกนจากหนังสือเป็นไฟล์ pdf กว่าร้อยเล่ม เชิญลองเลือกโหลดดู มีทั้งสาระ และ บันเทิงให้อ่านครบครันครับ
http://www.sathirakoses-nagapradipa.org/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=1&Itemid=2

Thursday, September 29, 2011

Sita Sings the Blues (2008)

เห็นของไทยแล้วพลันนึกถึงอนิเมชั่น Sita Sings the Blues (2008) โดย Nina Paley อนิเมเตอร์ชาวอเมริกัน เนื้อหาจากรามยณะ ดีไซน์สวย และมีลูกเล่นหลากหลาย ทั้งออกแบบตัวละครใหม่ และการใช้จิตรกรรมอินเดีย รวมถึงภาพโปสเตอร์ของอินเดียมาคอลลาจแบบเคลื่อนไหว บัดนี้เขามีให้ดูฟรีแล้วทางยูตูบ เพื่อเชื้อเชิญคนดูช่วยสมทบทุนในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีเครดิตต้นเรื่องว่า "Your Name Here, present" "in association with, Your Money" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเอาของเก่ามาเล่าใหม่อย่างน่าสนใจครับ

Wednesday, September 28, 2011

รามเกียรติ์ อนิเมชั่น

สร้างมาน่าจะปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่มีตอนใหม่ออกมาให้ชม น่าจะเป็นเพราะงบในการสร้าง "รามเกียรติ์" ฉบับ อนิเมชั่น ฉบับนี้สร้างโดยการใช้จิตรกรรมฝาผนังมาดัดแปลงกับคอมพิวเตอร์ ผลงานของ ameba film มีรายละเอียดประณีตมาก การนำรูปจิตรกรรมมาทำให้เคลื่อนไหวดูเป็นธรรมชาติ ท่วงท่าไม่ติดขัดเลย เนื้อเรื่องก็กระชับใจความดี ดนตรี และบทพากษ์ก็รื่นหู....ถ้ามีข้อเสียก็คือ เสียที่ไม่ทำต่อออกมานี่ล่ะ...นี่เป็นผลงานตัวอย่างที่ดีของการนำสิ่งดีๆที่เรามีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์ให้ร่วมสมัย ดังนั้นจะโมเดิร์นตามสากลอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าไร้รากมันก็สวยแบบกลวงๆ..... อ่ะ กินเหล้าฝรั่งมันก็อร่อยดี แต่ถ้าเคยกินสาโทจากไหสักครั้ง จะเข้าใจถึงคำว่า "จิตวิญญาณ"!!!

Tuesday, September 27, 2011

Basho’s Haiku 2


"โอ้ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นกับฉัน!
พ้นผ่านเมื่อวานมาได้
ซุปปลาปักเป้า"
/บะโช, 松尾 芭蕉 (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๒๓๗) ยอดแห่งกวีไฮกุของญี่ปุ่น
(Basho and His Interpreters: Stanford University Press, 1995)
(รูปวาดท่าน บะโช โดย กวีและจิตรกร บุสน)

The Kiss, Gustav Klimt


เมื่อราวกลางปีที่แล้ว ผมนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่อโศก เผลอหลับเลยแล้วหลงไปถึงเวียนนา ลงรถงงๆแล้วเดินขึ้นจากสถานี ที่มองเห็นอยู่อีกฝั่งถนนเขียนว่า Belvedere Museum แล้วมีโปสเตอร์ The Kiss ของ Klimt แปะอยู่ เลยคิดว่าไหนๆหลงมาถึงนี่ ควรจะชมเป็นขวัญตาสักที แถมเป็นศิลปินอาร์ต นูโว ในดวงใจอยู่แล้ว..........ล้วงกระเป๋า เทเหรียญ แลกเป็นเงินยูโรได้จำนวนนึง ซื้อตั๋ว 11ยูโร...
ที่อยู่ตรงหน้าคือ The Kiss โดย Gustav Klimt ภาพถูกรักษาในตู้กระจกขนาดใหญ่อย่างดี เห็นแล้วน้ำตาเอ่อ...อธิบายได้ว่ามันจับใจจริง ชายหญิงโอบกอดกันแน่นจนเป็นฟอร์มเดียวกัน แต่ฟอร์มที่เรียบง่ายถูกทำให้น่าสนใจด้วยลวดลายวิจิตร ชุดฝ่ายชายมีลวดลายสี่เหลี่ยมขาวดำและวิบวับด้วยสีเงินจากแผ่นเงินเปลว ฝ่ายหญิงสวมชุดลายวงกลมคล้ายดอกไม้ ความมลังเมลืองเฟื่องฟุ้งของสีทองจากแผ่นทองคำเปลวอันเป็นอิทธิพลที่คลิ้มท์ได้แรงบันดาลใจมาจากงานโมเสกของศิลปะไบเซนไทน์นั้นงดงาม แต่อาจน่าเบื่อไปถ้าเหลืองอร่ามไปทั้งภาพ สีม่วง(ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามสีเหลือง)และสีเขียวของใบไม้หรือต้นหญ้าจึงแทรกอยู่ในบริเวณส่วนล่างของรูปด้วย ความแบนของภาพ ความโดดเด่นของลวดลายตลอดจนองค์ประกอบที่เหมือนจะหลุดเฟรมไปทางข้างบน ล้วนเป็นอิทธิพลจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ยืนดูอยู่ราวครึ่งชม. ยังไม่จุใจ แต่ก็เกรงใจคนอื่นๆที่มายืนอยู่ข้างหลัง...ครั้นจะถ่ายรูปเขาก็ห้าม จึงจำต้องกลับไปขึ้นรถไฟ หลับสักพักใหญ่ ตื่นมาถึงจตุจักร วาสนาคงซื้อได้แค่งานรีโปรดักติดบ้านหนอเรา....

ไอน์สไตน์ เนื่องด้วยสุนทรีย์


"..มันเป็นไปได้ ที่จะอธิบายทุกๆสิ่ง ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็จะไร้สาระและไร้ความหมายไป เหมือนกับการที่เธออธิบายบทเพลงซิมโฟนีของบีโธเฟนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นความดัน.." /อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
(ภาพ: ไอน์สไตน์ แลบลิ้นให้นักข่าวและช่างภาพ หลังงานเลี้ยงฉลองวันเกิดครบรอบ72ปี ในปี 1951; ภาพโดย Arthur Sasse)

Monday, September 19, 2011

Zodiac by Alphonse Mucha


ขอแถมงานของ มูคา อีกภาพครับ "zodiac" หรือ "จักรราศี" เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ทักษะศิลปะที่น่าดูชม เส้นสายสวยงามไร้ที่ติโดยมิต้องสงสัย บวกกับองค์ประกอบที่คิดวางมาอย่างดี โทนภาพสีน้ำตาลไล่เฉดไปถึงสีเนื้อและสีส้มของเส้นผมที่โดดเด่นกลางภาพ สีเขียวของหมู่แมกไม้ที่สร้างรายละเอียดวิจิตรแต่ยังคงกลมกลืนกับสีน้ำตาล ทีนี้พอถึงรัศมีตรงกลาง ศิลปินใช้สีน้ำเงินฟ้าเข้ามาขัดทำให้ผมสีส้มเด่นขึ้นมาอย่างแยบคาย และยังกระจายสีชุดนี้ไปยังพระอาทิตย์ พระจันทร์ที่อยู่ข้างล่างแต่หม่นสีลงหน่อยให้เกิดสมดุลย์ ที่สำคัญในภาพนี้จะเห็นการออกแบบสัญลักษณ์ ราศีต่างๆ ซึ่งตรงภาพราศีนี้เอง ศิลปินแบ่งวงกลมเล็กไว้เกินจำนวน12ราศี ถ้าหารพื้นที่ด้วยสายตาจะเห็นว่ามี14วง เพื่อแก้ปัญหาที่ศีรษะสตรีจะบังไปส่วนหนึ่ง วิธีนี้จึงเห็น12ราศีครบ(แม้2อันริมสุดจะเห็นแค่ขอบ) เห็นทักษะและฝีมือแบบนี้แล้ว ขอกราบคุณมูคางามๆเลยครับ

Alphonse Mucha


เมื่อพูดถึง อาร์ต นูโว (Art Nouveau) ศิลปินคนแรกที่แว้บเข้ามาในความคิดของหลายๆท่านน่าจะมีผู้นี้อยู่เป็นแน่ อัลฟอนส์ มูคา(Alphonse Mucha), (24 กรกฎาคม 1860 – 14 กรกฎาคม 1939) ศิลปินชาวเชกผู้นี้ได้สร้างอิทธิพลต่อแนวทางศิลปะขึ้นมาใหม่ โดยแต่แรกนั้นเรียกกันว่า "มูคา สไตล์" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น "อาร์ต นูโว" อันแพร่หลายไปทั่วยุโรป
มูคามีผลงานมากมาย ทั้งงานจิตรกรรม งานภาพประกอบ งานดีไซน์ต่างๆ โดยเฉพาะที่แพร่หลายไปได้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุดก็คืองานออกแบบโปสเตอร์ของเขา ถ้าจะมีศิลปินสักคนหนึ่งที่ผมจะนึกถึงผลงานอันสามารถใช้คำว่า"งามวิจิตร"แล้วล่ะก็ มูคา คืออันดับต้นๆเลยล่ะครับ (ซ้าย:สเก็ตงานออกแบบโคมไฟ, กลาง:โปสเตอร์โดย มูคา พิมพ์โดยนายช่างพิมพ์ Ferdinand Champenois(ซึ่งโฆษณาที่อยู่ไว้เสร็จสรรพ), ขวา: สร้อยคอดอกโคมญี่ปุ่น(Fuchsia necklace) ออกแบบโดยมูคา ทำโดยนายช่างทองและเครื่องประดับ Georges Fouquet

Kimagure Orange Road


สมัยหนุ่มน้อยผมเก็บตังค่าขนม ค่อยๆสะสมการ์ตูนเรื่องนี้ "ออเร้นจ์โรด ถนนสายนี้เปรี้ยว"(Kimagure Orange Road ) ใครบ้างจะไม่ชอบ อะยุคะวะ มะโดะกะ นางเอกสุดเซ็กซี่(อย่างน้อยก็ในสมัยนั้นนะ แต่อย่ามาเทียบกับการ์ตูนสมัยนี้เลย) นอกจากมังงะสนุกถูกใจวัยกระเตาะแล้ว ทีวีช่อง3ก็มีฉบับอนิเมะให้ดูด้วย ส่วนที่ถูกใจผมเป็นพิเศษคือภาพงานดีไซน์ตัวละครของ อ.อะเคะมิ ทะคะดะ ผู้เป็นคนควบคุมโปรเจคฉบับอนิเมะ(ตัวมังงะนั้นวาดโดย อ.อิซุมิ มัทซึโมะโตะ) ผลงานที่เห็นเป็นภาพสีน้ำสวยงามของ ออเร้นจ์โรด ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของ อ.ทะคะดะ ซึ่งมีส่วนทำให้เรื่องนี้โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก ผมเองตอนนั้นพยายามวาดเลียนแบบแต่ไม่ได้เรื่องเลย (ทุกวันนี้ก็ยังคงวาดให้นุ่มนวลแบบนี้ไม่ได้สิน่า)
(ซ้าย:ภาพจากมังงะโดย อิซุมิ มัทซึโมะโตะ, ขวา:ภาพสีน้ำโดย อะเคะมิ ทะคะดะ)

ความรู้

Wednesday, September 14, 2011

Ars longa, vita brevis


"Ars longa, vita brevis, occasio praeceps, experimentum periculosum, iudicium difficile." ภาษาลาติน ซึ่งแปลมาจาก ต้นฉบับตำราในภาษากรีก ของ ฮิปพอคราทีส ชาวกรีก ผู้ถูกยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก อันที่จริง ars ในความหมายเดิมไม่ได้หมายถึงวิจิตรศิลป์ แต่หมายถึง เทคนิค, วิชา โดยเฉพาะในบริบทนี้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ประโยคเต็มจึงแปลได้ว่า "วิชานั้นยาวนาน(ในการเรียนรู้) ชีวิตมนุษย์แสนสั้น โอกาสมีเพียงชั่วครู่ การทดลองล้วนอันตราย การวินิจฉัยนั้นยากยิ่ง" แต่กระนั้นในบริบทของชาวศิลปะ ars จะแปลว่า วิจิตรศิลป์ ก็น่าจะเข้าใจได้ดี ดังที่อ.ศิลป์ได้อธิบายว่า " ..ชีวิตสลาย อาณาจักรพินาศ ผลประโยชน์ของบุคคลมลายหายสิ้นไป...ศิลปะอันเป็นผลงานทางด้านพุทธิปัญญาของมนุษย์ คือสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่า และจะดำรงคงอยู่ซึ่งประจักษ์พยานแห่งกิจกรรม และความมีปัญญาของตนไว้...นอกจากนี้แล้วก็เป็นสิ่งลวงทั้งสิ้น.."
15 กันยายน...สุขสันต์ครบรอบวันเกิดครับอาจารย์........

พ.บางพลี


คุณเอ้แห่ง วนิลาอินดัสทรี่ ส่งหนังสือหนูจ๋าและเบบี้มาให้ผมช่วยเก็บรักษาให้(ขอบคุณและยินดีครับ)ผมเปิดดูในเบบี้ นอกจากจะมีงานเขียนของอาวัฒน์ แล้วยังมีนิยายภาพของคุณ พ.บางพลี นักเขียนการ์ตูนไทยท่านสำคัญคนหนึ่งในวงการยุคต้นๆ ลายเส้นของการ์ตูนไทยยุคก่อนนั้นได้อิทธิพลจากการ์ตูนอเมริกัน คือมีรายละเอียด แสงเงา กายวิภาคสมจริง เรื่อง"ศรีธนญชัย"ในเล่มนี้ผมเห็นมีรวมเล่มพิมพ์ด้วยแต่คงหาชมยากเต็มที ใครมีกองหนังสือเก่าที่บ้าน ค้นดูอาจมีสมบัติซ่อนอยู่นะครับ

Tuesday, September 13, 2011

Ikkyu's poem


"..ผืนป่าและทุ่งหญ้า โขดหินและวัชพืช มิตรแท้ของฉัน
ทางเถื่อนแห่งเมฆบ้ามิเคยแปรเปลี่ยน
ผู้คนคิดว่าฉันเสียสติ แต่ฉันมิใส่ใจ
หากฉันคือผีร้ายบนโลกนี้ ใยต้องหวาดหวั่นปรโลก

ทุกวัน นักบวชทั้งหลายตรึกตรองพระธรรมอย่างละเอียดละออ
และสวดพระสูตรอันซับซ้อนอยู่อย่างมิรู้จบ
ทว่าก่อนทำเช่นนั้น พวกเขาควรเรียนรู้ว่า
จะอ่านจดหมายรักซึ่งส่งมาโดยสายลมและสายฝน โดยหิมะและพระจันทร์ ได้อย่างไร.."

/พระอาจารย์ อิคคิว โซจุน,(一休宗純) (พ.ศ.๑๙๓๗-๒๐๒๔) แห่งพุทธศาสนานิกายเซ็นในญี่ปุ่น ในบทกวีท่านเรียกตนเองว่า เคียวอุน(狂雲) แปลตรงตัวว่า เมฆบ้า (Crazy Cloud)
(Wild Ways; White Pine Press, 2003)
(ภาพเขียนท่านอิคคิว โดย โบกุซะอิ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน, ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่โตเกียว)

Basho’s Haiku


" ตายลงอีกไม่ช้า ไม่เห็นสัญญาณล่วงหน้า เสียงร้องของจั๊กจั่น"

/บะโช, 松尾 芭蕉 (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๒๓๗) ยอดแห่งกวีไฮกุของญี่ปุ่น
(Basho’s Haiku: State University of New York Press, 2004)
(รูปประติมากรรม ท่านบะโช ที่วัดชูซอนจิ(中尊寺) เมืองฮิระอิซุมิ ประเทศญี่ปุ่น)

Lin yong


หลิน โยวง, 林墉, Lin yong (พ.ศ.๒๔๘๕-) จิตรกรร่วมสมัยชาวจีน ผลงานแสดงถึงทักษะฝีมืออย่างสูง(มาก) โดยเฉพาะภาพเหมือนบุคคลซึ่งเขียนด้วยหมึกและสีน้ำอันเป็นเทคนิคประเพณีของจีน ในแบบกายวิภาคเหมือนจริงอย่างตะวันตก อันเป็นแนวทางที่ศิลปินจีนในยุคสาธารณรัฐ ช่วงต่อวัฒนธรรมเก่ากับใหม่หลายคนแสดงออกในผลงาน ผมรู้จักงานของลุงหลิน เมื่อสิบปีก่อน จากหนังสือในหอสมุดศิลปากร ถึงกับประทับใจมาจนทุกวันนี้ จำได้ว่าภาพวาดรูปสตรีท่านนี้ มีขนาดสูงท่วมหัวเลยทีเดียว ไม่ง่ายที่จะคุมเส้น น้ำหนักและการซึมของสีน้ำ บนภาพใหญ่เช่นนี้
(หนังสือชุดนี้ชื่อ Contemporary Chinese artists เป็นชุดมี 15 เล่ม หาดูยากหน่อย แต่อาจมีตามหอสมุดมหาวิทยาลัยครับ)

เรียกแบบญี่ปุ่น


"เรียกแบบญี่ปุ่น" ของ สนพ.ภาษาและวัฒนธรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
เจ้านี้ออกหนังสือมาราคา ค่อนข้างสูงทุกเล่ม แต่คุณภาพก็ดีสมราคาจริงครับ เล่มนี้325บาท หนา166หน้า พิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตมัน กราฟฟิก จัดรูปญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น ว่าด้วยคำเรียกสิ่งต่างๆในภาษาญี่ปุ่น ตั้งแต่หมวดของกิน เสื้อผ้า เครื่องดนตรี ไปถึงวัดวาอาราม ฯลฯ มีอักษรคันจิ และฮิระงะันะให้ด้วย(ผมก็อ่านไม่ ออกอยู่ดี) เป็นหนังสือเรียนรู้วัฒนธรรมที่อ่านเพลินครับ อ่านแล้วคิดถึงของไทยๆของเราบ้าง

The Gustave Doré Bible


The Gustave Doré Bible รวมผลงานภาพประกอบพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเทคนิค engraving ของ กุสตาฟ ดอเร (1832-1883) ศิลปินฝรั่งเศส หนังสือจริงที่คิโนะเคยเห็นราคาเกือบพัน ฉบับคนยากดูที่เว็บ http://www.swartzentrover.com/cotor/bible/Dore/Dore.htm รวมไว้ด้วยขนาดไฟล์ใหญ่สะใจคับ

STRUWWELPETER อ่านว่า ชะตรูฟเฟลเพเทอร์


STRUWWELPETER, MERRY STORIES AND FUNNY PICTURES
จากต้นฉบับ เยอรมันปี 1845 ของ Heinrich Hoffman นายแพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งเขียนหนังสือเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญแก่ลูกชายของท่านเอง เพราะหาหนังสือที่ถูกใจไม่ได้ กว่า160ปีที่ได้กลายเป็นหนังสือเด็กที่ได้รับความนิยมและแปลไปทั่วโลก ภาษาไทยแปลแล้วโดย อำภา โอตระกูลเมื่อปี 2548 ผมไปเจอแอบๆอยู่ในร้านหนังสือที่ธรรมศาสตร์ในชื่อ เด็กดื้อชื่อว่า ชะตรูฟเฟลเพเทอร์ ราคา100บาท อ่านฟรีในภาษาเยอรมันที่ http://www.gasl.org/refbib/Hoffmann__Struwwelpeter.pdf หรืออังกฤษที่ http://www.gutenberg.org/files/12116/12116-h/12116-h.htm

การ์ตูนขงจื๊อ


การ์ตูนขงจื๊อ โดย อ.หลี่จื้อชิง ลิขสิทธิ์ไทยของบูรพัฒน์ คอมมิกส์ 3เล่มจบ เพิ่งออกเล่มจบมาเมื่อเมษา ลายเส้นสไตล์การ์ตูนฮ่องกง นอกจากดำเนินประวัติของขงจื๊อแล้ว ยังมีวจนะของขงจื๊อยี่สิบบทจากคัมภีร์ อ่านสนุกได้ความรู้ แนะนำคับ!

Satoshi kon' Kaikisen


สารภาพว่าผมเพิ่งดูอนิเมชั่น Paprika ของ ซาโตชิ คอน(1963-2010) ไปเมื่อเดือนก่อน (แผ่นของพี่สิทหรือของติมซึ่งมาอยู่ที่ผมนานแล้ว ขอโทดค้าบ) ที่ดูก็เพราะว่านึกได้ว่ามีอยู่หลังจากที่อ่านกระทู้ที่ไหนสักแห่งที่พูดถึงความคล้าย(อย่างมาก)ของ paprika(2006) กับ หนัง inception(2010) ของ โนแลน แต่พอได้ดูแล้วผมกลับดีใจที่ได้ดูอนิเมชั่นเรื่องนี้หลัง inception ไม่ใช่เพราะว่าหนังดีกว่าอนิเมะ แต่เพราะหนังมันเบากว่าเยอะจึงเสมือนหนังได้ปูความเข้าใจอย่างดีสำหรับการดูอนิเมะเรื่องนี้ จึงทำให้ผม(โดยส่วนตัว)ได้เสพ เรื่อง ภาพ เทคนิค ความวิจิตร ละเมียดของ paprikaได้อย่างเต็มที่ ไม่มีข้อกังขาสำหรับความเจ๋งของอนิเมะเรื่องนี้เลย ดูเสร็จผมหาข้อมูลงานเก่าของ คอน (เคยดูโตเกียวก๊อดฟาเธอร์ไปเรื่องเดียวเอง) แต่ที่ผมสะดุดคือ มังงะที่คอนเคยเขียน นั่นคือเรื่อง ไกกิเซน (ฉบับฝรั่งคือ Return to the Sea) ซึ่งพอผมเห็นรูปในเน็ตของมังงะเรื่องนี้ ผมแว๊บทันทีว่า ผมมีนี่หว่า พอกลับบ้านจึงไปค้นดู....ในที่สุดก็เจอครับ วิบูลย์กิจพิมพ์ในปี 90 ในสมัยที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่ลงแม้แต่ชื่อคนวาด.....ผมจึงอ่านอีกรอบ...เยี่ยมไปเล้ยยย....อย่าลืมไปค้นการ์ตูนเก่าที่บ้านดูนะคับ

Tezuka Osamu's Buddha


ฮะว้าวว ตุลานี้มาแล้วจ้า Buddha ฉบับอนิเมชั่น จากเนื้อเรื่องของ อ.โอะซะมุ (แต่ลายเส้นใหม่หมด) เข้าตุลาสงสัยจะให้เด็กไปดู......แต่ผมนี่ล่ะจะไปดู 55

พูดถึงมังงะ Buddha ของ อ.เทะซึกะ โอะซะมุ ไม่ใช่การ์ตูนพุทธประวัตินะครับ สำหรับท่านที่วางแผนจะไปดูฉบับอนิเมะ ควรทราบล่วงหน้าไว้ก่อน อ.เทะซึกะ นำพุทธประวัติหลักๆมาราวๆ50%แล้วผูกเรื่องขึ้นใหม่อีก50%

โดยอาศัยตัวบุคคลในประวัติเดิมมาอ้างอิง ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าในเรื่องนี้พระอานนท์เคยเป็นโจรมาก่อน หรือพระเทวทัตต้องผจญชีวิตวัยเด็กอย่างเลวร้ายสุดๆ ดังนั้นหากมีเวลาสักนิด หาพุทธประวัติมาอ่านเล่นเพลินๆ จะช่วยให้อ่านมังงะหรือดูอนิเมะเรื่องนี้(ก็เขาบอกว่าเนื้อเรื่องตามมังงะ)ได้เก็ทและอินมากขึ้น อ่อในมังงะยังพกอารมณ์ขันตามแบบของอ.เทะซึกะ เอาไว้หลายแห่งอ่านแล้วก็อมยิ้มได้เลยล่ะครับ
(ซ้าย:ฉากทรงทรมานกาย, กลาง: พระพุทธเจ้าในฉากสำคัญของเรื่อง, ขวาบน: ตัวละคร Black jack ของอ.เทะซึกะ เอง, ขวาล่าง: อาจารย์โยดา และ อีที....มาได้ไง

Hokusai manga


"หนังสือภาพเสก็ตของโฮะกุไซ" เมื่อเอ่ยชื่อโฮะกุไซ ถ้าไม่ได้สนใจเกี่ยวกับศิลปะภาพพิมพ์ญี่ปุ่นคงไม่รู้จักชื่อนี้ แต่หลายคน(แทบทุกคน)อาจคุ้นตาภาพ "คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ"ซึ่งอยู่ในภาพชุด ๓๖ทัศนียภาพของภูเขาฟูจิ ของเขาดี รูปสุดฮิตที่ถูกนำไปดัดแปลงโดยอาร์ติส นักออกแบบและสื่ออีกหลายชนิด โฮกุไซ เป็นปรมาจารย์แห่งภาพพิมพ์ญี่ปุ่นในยุคเอโดะ (พศต.๒๔) ในช่วงวัย๕๔ปีนั้นเขาได้เริ่มจัดพิมพ์หนังสือภาพเสก็ตรวมออกมา๑๒เล่ม และหลังจากที่เขาเสียชีวิต(อายุ๘๙ปี)มีพิมพ์ต่อมาอีก๓เล่ม "โฮะกุไซ มังงะ"รวบรวมภาพทิวทัศน์ ดอกไม้ ผู้คนและภูตผีปีศาจต่างๆ ลายเส้นมีชีวิตชีวาน่าดูชม.....เชิญชมภาพชุดนี้ได้ที่ http://visipix.dynalias.com/search/search.php?u=2&userid=220685488&searchmethod=tree&startsearch1=go มีไฟล์ภาพคุณภาพใหญ่ให้โหลดได้ ผมลองแล้วทั้งหมด๑๕เล่ม พันกว่าภาพ ๑กิ๊ก กว่าๆเท่านั้นครับ

ซ้องกั๋ง


ตามเก็บขุมทรัพย์จากเมืองจีนมาสามสี่วัน ทำให้ผมยิ่งเห็นว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่สำคัญในการสื่อสารและการเรียนรู้อีกภาษาหนึ่งจริงๆ วันนี้นำ"ซ้องกั๋ง"(เรียกชื่อตามตัวเอกในสำนวนแต้จิ๋ว) หรือ "108ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน"(ต้นฉบับเดิมชื่อ สุยหู่จ้วน 水浒传 แปลว่า ริมฝั่งน้ำ) อันที่จริงต้องสารภาพว่าผมไม่เคยอ่านซ้องกั๋งเลย ทั้งที่มีผู้แนะนำให้อ่านมาตั้งนาน พอดีชุดขุมทรัพย์จีนที่ได้มามียอดวรรณกรรมจีนสี่เล่ม อันได้แก่ สามก๊ก, ซ้องกั๋ง, ไซอิ๋ว, ความฝันในหอแดง ปรากฏว่า รูปตัวละครในซ้องกั๋งมันหลายหลายถูกใจมาก นำมาลงให้ดูสามเวอร์ชั่นครับ ซ้าย: พิมพ์สีเหมือนกับรูปยาซิกาแรต, กลาง: ภาพสีน้ำพู่กันจีน, ขวา: จากหนังสือ Suiko, One O Eight Outlaw รูปชุดนี้แฟนตาซีน่าดูชมครับ

ไซอิ๋วกี่


ไซอิ๋วกี่(แต้จิ๋ว) หรือ ซีโหยวจี้(จีนกลาง) แปลว่า บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก(journey to the west) หนึ่งในสุดยอดสี่วรรณกรรมจีน ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน กวีในสมัยราชวงศ์หมิง เล่าถึงการเดินทางของพระอาจารย์ถังซัมจั๋งและเหล่าลูกศิษย์ทะโมนทั้งสาม เนื้อหาสอดแทรกปรัชญาและคุณธรรม พร้อมความสนุกสนานตื่นเต้น ผมไปค้นเจอหนังสือนิยายภาพคลาสสิคจากสามเวอร์ชั่น จำได้ว่าที่บ้านผมมีเล่มหนึ่ง (แต่ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราวในวัยเด็ก ผมวาดรูปทับไปตั้งหลายหน้า T_T) เลยนำภาพประกอบมาให้ชมกันเล่นๆครับ
บน; ฉบับพิมพ์ใในมณฑลเสฉวน
กลาง; ฉบับพิมพ์ในมณฑลหูหนาน
ล่าง; ฉบับพิมพ์ในมณฑลเหอเป่ย
เห็นแล้วคงต้องเก็บตังซื้อฉบับวรรณกรรมแปลมาอ่านแล้วกระมัง

Kitagawa Utamaro


ภาพพิมพ์โดย คิตะงะวะ อุทะมะโระ, 喜多川 歌麿 ศิลปินภาพพิมพ์ชาวญี่ปุ่น(พ.ศ.๒๒๙๖-๒๓๔๙)
จากหนังสือแห่งแมลง,画本虫撰 (Ehon mushi erami), พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๓๓๑
บทกวีทางขวาสองบทโดยนักกวีสองท่าน:

"จดหมายที่ฉันส่งถึงเธอม้วนราวกับงูขด
ฉันปลดปล่อยความรู้สึก หลั่งไหลทอดยาวราวงูเลื้อย"
/ชิเอะดะ ฮะนะโมะโตะ

"เจ้าจิ้งเหลนมีสีเขียว เพราะความช้ำชอกใจที่รักร้าง
ปีนป่ายเปะปะ อยู่แถวใบของต้นเท้ายายม่อม"
/ทงยะ ซะคะฟุเนะ

(*บทกวีผมแปลจากต้นฉบับอังกฤษสามสำนวน ซึ่งต่างกันเล็กน้อย อย่าถือว่าเป็นการแปลที่สมบูรณ์ แค่แปลประกอบภาพให้พอได้ชิมอรรถรสครับ)
(เชิญชมภาพทั้งหมดในเล่มนี้ได้ที่ http://record.museum.kyushu-u.ac.jp/gahonmushi งามมากครับ)

The Wonderful Wizard of Oz


พูดถึง Alice แล้วควรพูดถึง Oz ด้วย The Wonderful Wizard of Oz เป็นผลงานของ L. Frank Baum ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1900 พร้อมภาพประกอบวิจิตรโดย W. W. Denslow แน่นอนว่า Alice มีอิทธิพลต่อ Oz ซึ่ง Oz เองมีอิทธิพลต่อ Narnia, Lord of the ring และ Potter ด้วย ซี่รี่ Oz มีอยู่15เล่ม(พิมพ์หลังผู้เขียนเสียชีวิตสองเล่ม) บวกฉบับคอมมิกในหนังสือพิมพ์โดย Baum เองหนึ่งเล่ม และบวกเล่มสุดท้าย ที่เขียนโดยคนอื่นอีกหนึ่งเล่ม ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญาใช้ต้นฉบับภาพประกอบดั้งเดิมสวยงาม ออกอย่างช้าๆในเวลาสิบปีมาุ6เล่ม และดูท่าว่าจะหยุดอยู่แค่นั้น (เพราะหนังสือจัดพิมพ์อย่างดี จึงมีราคาค่อนข้างสูง แต่คนอ่านไม่ค่อยมี)
เลือกรูปงามๆฝีมือ Denslow มาฝาก เห็นแล้วบอกได้ว่า Denslow คือบุคคลอีกคนหนึ่งที่ทำให้ Oz ได้รับความนิยม (บนซ้าย: ภาพจากฉบับปี 1903, บนขวา: ภาพจากฉบับในรุ่นหลังกว่า ไม่ทราบปี/ ล่าง: ภาพจากในเล่ม ไม่ใช่แค่ภาพประกอบแยกหน้า แต่ที่วางองค์ประกอบสวยมากคือภาพที่ซ้อนรวมอยู่กับเนื้อเรื่อง)
*อ่านและชมภาพประกอบฉบับภาษาอังกฤษที่ http://www.archive.org/stream/wonderfulwizardo00baumiala

Alice's Adventures in Wonderland


Alice's Adventures in Wonderland โดย Lewis Carroll พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1865 จวบจนปัจจุบัน พิมพ์ซ้ำ และแปลพิมพ์ไปแล้วน่าจะรวมหลายร้อยครั้ง ภาพประกอบฉบับออริจินอลในปี 1865 วาดโดย Sir John Tenniel และแม้จะมีนักวาดรุ่นหลังๆที่ได้มาวาดภาพในเรื่องนี้ แต่ฉากสำคัญๆที่ Tenniel วาดไว้ ก็ยังคงเป็นต้นแบบสำหรับนักวาดรุ่นหลัง โดยมีการแสดงออกตามเทคนิค รูปแบบ และลักษณะของศิลปินแต่ละคนไป
*ฉากที่นำมานี้เป็นตอนที่อลิซพบกับเจ้าหนอนผีเสื้อสีน้ำเงินที่กำลังนั่งดูดฮุกกาอยู่บนดอกเห็ด
/แถวบน: Jonh Tenniel 1865, Blanche McManus 1899, Maria Kirk 1904
แถวล่าง: Arthur Rackham 1907, Gertrude kay 1923, disney Studio 1950
(ฉบับแปลไทย "อลิซในดินแดนพิศวง" แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา และ ภาคต่อ "อลิซในเมืองกระจก" แปลโดย สุชารัตน์ สถาพรอานนท์: สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม ใช้ต้นฉบับภาพวาดเดิมของ Tenniel ซึ่งมีฉบับภาษาอังกฤษอ่านออนไลน์ได้ที่ http://www.archive.org/stream/alicesadventures00carr3)

Amar Chitra Katha


คอมมิกอินเดีย โดย สนพ.อมรจิตรกถา (Amar Chitra Katha) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ มีผลงานพิมพ์มากกว่า ๔๐๐เรื่อง และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษหลายเรื่อง คอมมิกของ สนพ.นี้ส่วนใหญ่เป็นการนำเอานิทาน วรรณคดี เทวปกรณัม และบุคคลสำคัญของอินเดียมาเขียน เนื้อหาอ่านง่าย ภาพสวยสีสันสะดุดตา ผมเคยไปตามเก็บคอมมิก สนพ.นี้ได้จากร้านโอเดียนสโตร์ที่สยามเมื่อสิบกว่าปีก่อน จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการแปลและพิมพ์ในภาษาไทย แต่ก็พิมพ์ไปเพียงไม่กี่เล่ม ทั้งยังขายราคาค่อนข้างสูงแต่คุณภาพการพิมพ์ไม่ดีนัก
(ซ้าย : ภาพจากเรื่อง องคุลีมาล, ขวา : ภาพจากเรื่อง พระกฤษณะ)

Tsai Chih Chung


ไช่จื้อจง, 蔡志忠, Tsai Chih Chung (พ.ศ.๒๔๙๑-) นักเขียนการ์ตูนชาวไต้หวัน มีผลงานโด่งดังมากมาย โดยเฉพาะการที่เขานำเอาปรัชญาจีนสำนักต่างๆ มาเขียนในรูปแบบการ์ตูน ด้วยลายเส้นเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ และการสอดแทรกอารมณ์ขันอย่างลงตัว ทำให้ปรัชญาที่ดูยากเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป ในไทย เมื่อราวยี่สิบปีก่อน สนพ.นานมี เคยออกฉบับแปลของท่านหลายเล่ม เช่น ประทีปแห่งเซ็น เหลาจื้อสอนว่า ขงจื้อวิจารณ์ ไซอิ๋ว ฯลฯ แต่ก็ไม่ครบทุกเล่ม สำนวนแปลระดับผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้นเช่น แต่ปัจจุบันไม่มีการนำกลับมาพิมพ์ใหม่เลย
*ผมไปหาได้ต้นฉบับแปลอังกฤษ Zen Stories มาเล่มนึง จำได้ว่าเล่มนี้ยังไม่เคยมีฉบับแปลไทย จึงเอามาแปลเล่นๆยามว่างครับ

เจ้าหญิงนกยูง


"เจ้าหญิงนกยูง" ฉบับภาษาไทย ในหนังสือชุดนิทานพื้นบ้านของจีน ภาพประกอบโดย หยิ่นโข่วหยาง โดยสำนักพิมพ์ไห่เฟิง, ฮ่องกง; ค.ศ.๑๙๘๖
วันนี้ได้เล่มนี้มาจากแถวท่าช้าง สภาพ60% ปกหลังหาย แต่ข้างในครบ มีขาดตามมุมบ้างสองสามแผ่น ผมจำได้ว่าชุดนี้จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมี เคยเห็นมีเรื่องอื่นๆด้วยในบู้ทนานมี เมื่อสัปดาห์หนังสือหลายปี(มาก)มาแล้ว ตอนนี้ท่าจะหายาก ผมชอบภาพประกอบสวยงามในเล่ม เป็นสไตล์จีนร่วมสมัย ยิ่งพิเศษที่เล่มเจ้าหญิงนกยูงนี้ เป็นนิทานพื้นบ้านของหยุนหนาน(ยูนนาน) ซึ่งก็คือเรื่องพระสุธนมโนห์รานี่ล่ะ(เป็นนิทานพื้นบ้านโบราณของชาว"ไต") ภาพประกอบเลยมีเครื่องแต่งกายกระเดียดมาทางไตๆไทยๆเรานี้เอง

Hirayama Ikuo


เมื่อวานระหว่างหาหนังสือเรื่อยเปื่อยในห้องสมุด ผมพลันนึกไปถึงศิลปินญี่ปุ่นอาวุโสท่านหนึ่งที่ผมเคยรีโปรดักงานท่าน ฮิระยะมะ อิคุโอะ(平山 郁夫, Hirayama Ikuo)(พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๕๒) ศิลปินผู้สืบทอดจิตรกรรมประเพณีญี่ปุ่นแต่ก็มีลักษณะที่ร่วมสมัย งานของท่านมักวาดเกี่ยวกับ ทะเลทราย เส้นทางสายไหม อินเดีย เปอร์เซีย รวมทั้งเรื่องพุทธศาสนา ผมชื่นชอบความเรียบง่าย ใช้สีแต่น้อย แฝงรายละเอียดปราณีต แม้แต่งานดรออิ้งของท่านก็แสดงเส้นสะอาด ใช้สีเพียงบางๆโฉบลงไป แค่นี้ก็สวยเแล้วครับ

Daniel Egneus


Daniel Egneus (1972-) ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวสวีเดน แม้ไม่ได้เรียนศิลปะมาในสถาบัน แต่นั่นกลับเป็นข้อดีของเขาที่ทำให้ได้ค้นคว้าด้วยตนเอง ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆอย่างไม่ยึดติด เส้นสายดูอิสระ สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และเท่! ผลงานของเขาปรากฏอยู่ในแมกาซีน โฆษณา ผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย ผมบังเอิญไปเจอหนังสือ "'Little Red Riding Hood" (หนูน้อยหมวกแดง) ฉบับภาพประกอบของเขาที่B2S แม้ภาพของเขาจะดูขัดกับอารมณ์นิทานสุดคลาสสิคที่ผมเคยรู้สึกมา แต่ลีลาของภาพก็สวยจริงๆตามสไตล์เขาล่ะครับ
แวะชมเว็บของเขาได้ที่ http://www.danielegneus.com หรือที่บล๊อก http://danielegneus.blogspot.com
หรือชมขั้นตอนการวาดภาพใน Little Red Riding Hood ของเขาได้ที่ http://youtu.be/3vnhcJHcJWo

Stan(Stanley) Chow


Stan(Stanley) Chow, แสตนลี โจว ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษ(แต่ดูจากสกุลแล้วมีเชื้อจีนหรือเปล่า?) ผมหาประวัติของเขาได้ไม่มากนัก รู้เพียงว่าเกิด โต เรียน และทำงานที่แมนเชสเตอร์ในอังกฤษ ผลงานของเขามีรูปแบบเฉพาะตัวเด่นชัด โดยเฉพาะส่วนมากที่เป็นภาพพอร์ทเทรทคนดังทั้งหลาย เขาจับบุคคลิกของคนเหล่านั้น นำมาคลี่คลาย สร้างสรรค์ได้อย่างสุดcool(ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี) ชมผลงานของเขาได้ที่ http://www.stanleychowillustration.com
หรือที่ http://stanleychow.bigcartel.com
ถ้ามีกะตัง จะสั่งซื้องานพี่เขาก็ได้นะ 20ปอนด์เอง

George Barbier


George Barbier (ค.ศ.1882 - 1932) ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบ สไตล์ Art Deco ชาวฝรั่งเศส ต่างจากความงามอ่อนหวานของสไตล์อาร์ต นูโว ในงานอาร์ต เดคโคเราจะเห็นความงามสง่า ดูมีรสนิยม เข้มแข็งมากกว่า แม้จะมีการใช้ลวดลาย สีสันในการประดับ แต่ก็ใช้อย่างควบคุมให้อยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากจนลายตา(อย่างที่อาร์ต นูโวชอบกัน) ตัวอย่างผลงานของ George Barbier แสดงเนื้อหา อารมณ์ของงานแบบอาร์ต เดคโค ได้อย่างชัดเจน
ชมผลงานของศิลปินผู้นี้เพิ่มได้ที่ http://www.artophile.com/dynamic/artists/BarbierGeorge_ArtDecoandPochoir.htm

Muzan-e


มุซันเอะ, 無残絵, muzan-e (ภาพแห่งความโหดร้าย) ในขณะที่ภาพพิมพ์ญี่ปุ่นแบบ อุกิโยะเอะ ที่เรารู้จักกันดี แสดงอารมณ์ที่ดูเพลินตาเพลินใจ มุซันเอะ กลับเป็นเรื่องราวตรงกันข้าม ในภาพแสดงความรุนแรง เลือด เพศ และฆาตรกรรม ซึ่งนำมาจากเรื่องเล่า บทประพันธ์ หรือบทละคร ผมว่าความรู้สึกของคนยุคนั้น มุซันเอะคงไม่ต่างอะไรกับภาพยนตร์ ที่แสดงความรุนแรงชวนผวาของเราในสมัยนี้ ที่ในบางครั้งเราก็อยากดู แม้จะต้องปิดตาดูบ้างก็ตาม แต่แน่นอนว่าในภาพศิลปะและภาพยนต์(ถ้าไม่คัลท์แบบดิบทะลุโลกเกินไป) เราดูได้เพราะเรื่องที่โหดร้ายเหล่านั้น ผ่านการสังเคราะห์ สร้างสรรค์ออกมาด้วยทัศนธาตุและองค์ประกอบทางศิลปะ บิดผันไปจากความจริงที่อาจจะเป็นจริงมากจนเกินดูชม ทุกวันนี้ มุซันเอะ ยังคงเป็นแนวทางที่ศิลปินร่วมสมัยในญี่ปุ่นหลายคน แสดงออกมาในผลงานของตัวเองอยู่
/ซ้าย; ภาพพิมพ์ โดย ซึกิโอะกะ โยชิโตะชิ, Tsukioka Yoshitoshi(ค.ศ.1839–1892) ศิลปินภาพพิมพ์ชาวญี่ปุ่น
/ขวา; ภาพเขียน โดย ซุเอะฮิโระ มะรุโอะ, Suehiro Maruo (ค.ศ.1956-) ศิลปินร่วมสมัย นักเขียนมังงะและภาพประกอบ ชาวญี่ปุ่น

david downton


david downton (ค.ศ.1959-) ศิลปินชาวอังกฤษ นักเขียนภาพประกอบ โดยเฉพาะภาพแฟชั่น มีผลงานปรากฏในนิตยสารแฟชั่นนับไม่ถ้วน ลายเส้นฉับไว เขียนเน้นเฉพาะส่วนสำคัญ (อย่างที่ภาษาศิลปะว่า เขียนน้อยแต่ได้เยอะ) ด้วยเพราะว่ามีทักษะความแม่นยำสูงมาก ยิ่งเห็นงานภาพพอร์ทเทรทของเขา ยิ่งรู้สึกถึงความเชี่ยวชำนาญ ผลงานจึงออกมาดูสวยสง่า (ใครๆก็อยากให้เขียน เพราะมันยิ่งทำให้ดูดีมากๆ) เหมาะกับการเป็นภาพประกอบแฟชั่นจริงๆ
(เยี่ยมชมเว็บของศิลปินได้ที่ http://www.daviddownton.com)

tetsuya ishida


เททซึยะ อิชิดะ, 石田 徹也, tetsuya ishida (ค.ศ.1973-2005) ศิลปินชาวญี่ปุ่น ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมญี่ปุ่น ผ่านภาพของการดำเนินชีวิตประจำวัน สุดเซอร์ กดดัน บีบคั้น เย็นชา เปรียบเปรยมนุษย์เป็นเสมือนเครื่องจักรกล ดวงตาของมนุษย์ในผลงานของเขาดูไร้ชีวิตชีวาเสียจริงๆ แต่ที่น่าสนใจคือการนำเอาเครื่องจักร วัตถุต่างๆมาผสมผสาน เปรียบเทียบกับร่างมนุษย์ ด้วยเหตุที่ศิลปินผู้นี้มองโลกเยี่ยงนี้กระมัง เขาเสียชีวิตโดยรถไฟชนในปี2005 เชื่อกันว่านั่นเป็นความตั้งใจของเขา..
(เว็บทางการของศิลปินเป็นภาษาญี่ปุ่นที่คลิกดูแกลลอรี่ไม่ได้ เอาเว็บอื่นมาดูเล่นๆรวมๆก่อนนะ)http://theendofbeing.com/2010/06/12/tetsuya-ishida-modern-man/ (ดูแล้วอย่าหดหู่ตามนะจ๊ะ)

Yoshitaka Amano


โยะชิทะกะ อะมะโนะ, 天野 嘉孝, Yoshitaka Amano (เกิด ค.ศ. 1952) ศิลปิน นักเขียนอนิเมชั่น นักเขียนภาพประกอบ ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีของเขาคือดีไซน์ตัวละครเกมส์ Final Fantasy ทุกภาค และภาพประกอบนวนิยาย Vampire Hunter D เขามีผลงานมากมายรวมทั้ง Art Books รวบรวมผลงานของเขาเอง ลายเส้นฉับไว เปี่ยมเสน่ห์แบบตะวันออก งดงามแฝงความลี้ลับ เขาได้รับอิทธิพลลวดลายและอารมณ์หลายอย่างจากงานของ Klimt (แน่นอน Klimt ก็ได้จากญี่ปุ่นมา) เขาคืออีกหนึ่งนักวาดภาพประกอบที่ถูกยกชั้นให้เป็นศิลปินระดับปรมาจารย์
(เว็บของเขาที่เคยมีล่มไปเสียแล้ว แต่ผลงานของเขาหาดูได้ไม่ยากในเว็บต่างๆ แม้กระทั่งไฟล์ pdf...ผมไม่ได้ชี้แนะนะ แค่บอกไปตามความเป็นจริง)

Léon Bakst


Léon Bakst (ค.ศ.1866 –1924) จิตรกร นักวาดภาพประกอบ ออกแบบฉากและเครื่องแต่งกายชาวรัสเซีย โดยเฉพาะงานสเก็ตช์เครื่องแต่งกายบัลเลต์ของเขา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง มีลวดลายน่าตื่นตา ท่วงท่าที่ดูพริ้วไหวเสมอ อันเกิดจากการคำนึงถึงการสวมใส่ในการแสดงจริง ชมเว็บผลงานของเขาได้ที่ http://www.leon-bakst.com/index.php (แต่ในเว็บรูปไม่ใหญ่ไม่เยอะสะใจเท่าไหร่หรอก)
หรือชมใน http://www.artic.edu/aic/collections/artwork/artist/845 และ http://pintura.aut.org/BU04?Autnum=13.740 (ภาษาสเปน จิ้มๆไปเถอะ)
(ภาพสเก็ตช์ A Bacchante โดย Léon Bakst)

Walter Crane


Walter Crane (ค.ศ.1845–1915) ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษ ผู้มีสไตล์งานแบบ"พรีราฟาเอลไลท์"(ซึ่งเพรียกหาความงามแบบศิลปะคลาสสิค และชื่นชอบความงามในการจัดวางของ"ราฟาเอล"แห่งเรอเนสซองส์) ผลงานของเขาจึงมีความงามในท่วงท่าของตัวละครและองค์ประกอบการจัดวางอันโดดเด่น อบอวลไปด้วยกลิ่นอายโรแมนติกของยุคกลาง อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างของกลุ่มพรีราฟาเอลไลท์ด้วย
: ชมผลงานของเขาและดาวน์โหลดได้อย่างถูกต้องฟรี ในหลายรูปแบบข้อมูลที่ http://www.gutenberg.org/browse/authors/c#a7195
หรือที่ http://www.archive.org/search.php?query=creator%3A%22Crane%2C+Walter%2C+1845-1915%22
(ไฟล์หนังสืออาจมีร่องรอยฉีกขาดบ้างเนื่องจากเป็นการสแกนจากหนังสือเก่า แนะนำให้เลือกโหลดไฟล์เป็นรูปภาพ (jpeg)จะได้ความคมชัดกว่าไฟล์ pdf)
(ภาพประกอบจากเรื่อง Beauty and the beast)